“เกลือโซเดียมศัตรูตัวฉกาจของภาวะความดันโลหิตสูง

ทราบหรือไม่ว่าการควบคุมภาวะความดันโลหิตสูงนั้น นอกจากการทานยาเพื่อช่วยลดความดันโลหิตแล้ว การจำกัดอาหารเค็มก็มีความสำคัญไม่น้อยกว่ากัน เป็นสิ่งที่ควรเน้นในผู้ที่มีความดันโลหิตสูงทุกคน เพราะการทานเกลือ ในปริมาณมากจะส่งผลให้ร่างกายเสียสมดุลน้ำ เกิดการดูดกลับน้ำเข้ามาในหลอดเลือด ส่งผลเพิ่มความดันโลหิตในที่สุด โดยในปี 2562 สมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทยรวมทั้งสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา ได้แนะนำว่าในผู้ที่มี ความดันโลหิตสูง ควรต้องลดปริมาณการทานโซเดียมให้เหลือไม่เกิน 1.5 กรัมต่อวันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยลดความดันโลหิต ลงมาได้ถึง 5 มิลลิเมตรปรอท (ทราบหรือไม่ว่าแค่ 5 มิลลิเมตรปรอทของความดันที่ลดลงได้ จะช่วยให้อัตราการเกิดโรคหัวใจ และอัมพฤกษ์อัมพาตของเราลดลงถึง 10-15% และลดอัตราการตายได้ถึง 7% !!!!)

สำหรับชีวิตประจำวันคนไทยซึ่งทานอาหารรสชาติเค็มเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว การจะจำกัดการทานโซเดียมให้ไม่เกิน 1.5 กรัมต่อวัน สามารถทำได้โดยหลีกเลี่ยงการเติมเครื่องปรุงรส เกลือ น้ำปลา ซีอิ้วขาว หรือผงชูรส (ทราบหรือไม่ว่า ปริมาณโซเดียม 1.5 กรัม เทียบเท่ากับเกลือแกง (โซเดียมคลอไรด์) เพียง 3/4 ช้อนชา (­3.5 กรัม) หรือน้ำปลา/ซีอิ๊วขาวทั่วไปเพียง 2-3 ช้อนชา  หรือ ผงชูรสเพียง 3 ช้อนชา) ดังนั้นการใช้เครื่องปรุงรสที่มีเกลือโซเดียมต่ำทั้งในขณะปรุงอาหารหรือเป็นเครื่องปรุงบนโต๊ะอาหาร ก็จะเป็นทางเลือกสุขภาพอีกทางหนึ่ง ในการบรรลุเป้าหมายการคุมเกลือของเราได้

รายการปริมาณโซเดียม (มิลลิกรัม) ต่อ 1 หน่วยบริโภค
ก๋วยเตี๋ยวเส้นใหญ่ผัดซีอิ้ว2,589
ส้มตำไท 2,190
ก๊วยจั๊บ 1,155
ข้าวคลุกกะปิ 1,095
ก๋วยเตี๋ยวเส้นใหญ่เย็นตาโฟ 1,076
ข้าวขาหมู 988
ข้าวราดไก่ผัดใบกะเพรา 972
ขนมจีนน้ำยา 956
ข้าวหมูแดง 852
ข้าวผัดหมูใส่ไข่ 744
บะหมี่แห้งหมูแดง 675
ก๋วยเตี๋ยวเส้นใหญ่ราดหน้าหมู 660

ตาราง แสดงปริมาณโซเดียมเฉลี่ยในอาหารจานเดียวประเภทต่างๆที่คนไทยนิยมรับประทาน

นอกจากนี้ ยังมีอาหารที่มีปริมาณโซเดียมสูงแต่มีรสชาติที่ไม่เค็ม ที่เรียกว่า “โซเดียมแฝง” ซึ่งหากรับประทานเป็นประจำก็จะทำให้เราได้รับโซเดียมโดยไม่รู้ตัว โดยสามารถพบโซเดียมแฝง ได้ในอาหารดังต่อไปนี้

ผงชูรส (monosodium glutamate) เป็นสารใช้ปรุงรสที่ไม่มีรสเค็ม แต่มีโซเดียมเป็นส่วนประกอบ อยู่ด้วยประมาณ 15% โดยเฉพาะอาหารสำเร็จรูปในท้องตลาดที่มักเติมผงชูรสลงไปแทบทุกชนิด เพื่อช่วยให้อาหารมีรสอร่อยขึ้น

อาหารแปรรูปหรือการถนอมอาหาร เช่น อาหารกระป๋องทุกชนิด อาหารหมักดอง อาหารตากแห้ง และเนื้อสัตว์แปรรูป เช่น ไส้กรอก หมูยอ หมูหยอง แหนม ไส้กรอกอิสาน เป็นต้น มักจะเติมเกลือหรือสารกันบูด ซึ่งมีโซเดียมในปริมาณที่สูงมาก

อาหารกึ่งสำเร็จรูปเช่น บะหมี่ โจ๊ก ข้าวต้ม ซุปชนิดต่างๆทั้งชนิดก้อนและซอง

ขนมที่มีการเติมผงฟู เช่น เค้ก คุกกี้ แพนเค้ก โดนัท ขนมปัง ปาท่องโก๋ ซาลาเปา โดยผงฟูที่ใช้ในการทำขนมเหล่านี้ มีโซเดียมเป็นส่วนประกอบ (โซเดียมไบคาร์บอเนต) รวมทั้งแป้งสำเร็จรูปที่ใช้ทำขนมมักจะผสมผงฟูไว้แล้ว

ดังนั้น หากเราได้ทราบแล้วว่าแหล่งของเกลือโซเดียมที่เราทานเข้าไปมาจากในรูปแบบใดบ้าง การจำกัดการทานเค็มก็จะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป เพียงแต่ต้องอาศัยวินัยในการรับประทานอย่างเคร่งครัด เพื่อให้มีสุขภาพที่ดีอย่างยาวนาน ลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการมีความดันโลหิตสูงที่ควบคุมไม่ได้